แผ่นพื้นสำเร็จรูป,

เสาเข็มหกเหลี่ยม กับการรับน้ำหนัก 2

           จากบทความที่แล้วที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า การตอกเสาเข็มหกเหลี่ยม นั้นทำอย่างไรก็ได้ไม่่ให้แรงเสียดทานของดินที่กระทำต่อผิวของเสาเข็มโดยรอบหายไป แต่บางครั้งสถานที่ก่อสร้าง หรือหน้างานไม่สะดวกที่จะใช้รถแบ็คโฮกดเข็มหกเหลี่ยมลงไป ยังไงก็ต้องใช้แรงคนในการตอก
การใช้แรงคนตอกนั้นทำได้แต่ถ้าทำไม่ถูกวิธีก็เกิดประโยชน์น้อย ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจอีกครั้งว่า
 การลงเสาเข็มลักษณะแบบนี้จะไม่ได้เป็นการลงเสาเข็มแบบลึกถึงชั้นดินแข็งแบบ
ที่เป็นเสาเข็มรับตัวบ้าน เสาเข็มแบบนี้จะรับน้ำหนักได้ก็โดยอาศัยแรงเสียดทาน หรือ
 พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือแรงเสียดสีของดินที่หุ้มอยู่รอบๆเสาเข็ม ช่วยบีบรัดหรือพยุงเสาเข็ม
ไว้ไม่ให้ทรุดลงไป เพื่อให้เสาเข็มสามารถรับน้ำหนักได้ แต่ถ้าหากว่าช่างที่เป็นคนลงเสาเข็ม
ทำการลงเสาเข็มไม่ถูกวิธีก็จะทำให้ประสิทธิภาพในการรับน้ำหนักของเสาเข็มถูกลดทอนลง
ไป เช่น   วิธีที่ใช้คนขุดแล้วขย่มเสาเข็มลงไป โดยการ

-  ขุดหลุมให้กว้างกว่าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเสาเข็มหกเหลี่ยม และขุดลงไปที่ความลึกจนเกือบสุดความยาวของเสาเข็ม แล้วเอาเสาเข็มหย่อนลงไปจนเกือบมิดหลุมเหลือโผล่ไว้เล็กน้อยประมาณ .50 – 1 เมตร แล้วใช้คนขย่มหรือใช้สามเกลอ  ตอกลงไป






รูปที่ 1 – การลงเสาเข็มหกเหลี่ยม โดยใช้เสาเข็มขนาดความยาว 4 เมตร ช่างขุดหลุมลึก 3 เมตร แล้วหย่อนเสาเข็มลงไป เหลือโผล่เสาขึ้นมา 1 เมตรเพื่อตอกหรือขย่มลงไป ข้อสังเกตก็คือ การขุดเอาเสาเข็มหย่อนลงไปในหลุมที่ขุดให้กว้างกว่าขนาดหน้าตัดเสาเข็ม เมื่อขุดกว้างกว่าก็ทำให้รอบๆเสาเข็มเกิดช่องว่าง

รูปที่ 2 – เมื่อตอกหรือขย่มเสาเข็มลงไปแล้ว เสาเข็มหนึ่งเมตรสุดท้ายก็จมแทรกลงไปในเนื้อดิน เนื้อดินที่หุ้มอยู่รอบๆเสาเข็มในหนึ่งเมตรสุดท้ายนี่แหละที่จะเกิดเป็นเป็นแรงเสียดทานจริงๆช่วยพยุงเสาเข็มไว้เพื่อต้านน้ำหนักที่กดลงมาบนเสาเข็ม แต่เมื่อคิดเป็นเปอร์เซนต์แล้วเสาเข็มสามารถรับน้ำหนักได้แค่ 25 เปอร์เซ็นต์ของความสามารถในการรับน้ำหนักทั้งหมด เพราะว่า 3 เมตรแรกดินถูกขุดออกไปทำให้เกิดช่องว่างรอบๆเสาเข็ม ไม่มีแรงเสียดทานหรือมีแรงเสียดทานน้อยระหว่างดินกับเสาเข็มในระยะ 3 เมตรแรกนี้ ทำให้เสาเข็มทำงานหรือรับน้ำหนักได้ไม่เต็มที่

แต่ในบางสภาพหน้างานที่ไม่สามารถใช้วิธีอื่นได้ นอกจากการลงเสาเข็มด้วยวิธีนี้ จะทำอย่างไรให้การลงเสาเข็มหกเหลี่ยมด้วยวิธีนี้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด





-           การใช้แรงคนลงเสาเข็มวิธีนี้คงหลีกเลี่ยงการขุดดินไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องขุดดินให้เป็นหลุมเพื่อนำร่องให้เสาเข็มลงไปได้ก่อน การจะเอาเสาเข็มตั้งบนดินแล้วเอาคนตอกหรือขึ้นขย่มเลยเสาเข็มก็คงไม่ลง แต่ก็ไม่ควรขุดหลุมนำร่องให้ลึกจนเกินไป ระยะแรกอาจจะขุดลงไปให้ความกว้างของหลุมเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางของเสาเข็มก่อน เพื่อที่จะเอาเสาเข็มสวมลงไปในหลุมได้(ที่ความลึกประมาณ 1-1.5/4ของเสาเข็ม) แล้วก็ขุดนำร่องต่อลงไปอีกโดยไม่ให้หลุมกว้างกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของเสาเข็มจนได้ความลึกประมาณครึ่งหนึ่งของเสาเข็ม แล้วค่อยตอกหรือขย่มลงไปจนสุด และอาจใช้ดินหรือทรายถมกรอกอุดลงไปในระยะ 1-1.5/4 เมตรแรก ที่ขุดนำร่องไปก่อนหน้านี้เพื่อไม่ให้ดินเป็นช่องว่างรอบเสาเข็ม ก็จะช่วยทำให้ประสิทธิภาพในการรับน้ำหนักของเสาเข็มดีกว่าวิธีแรกที่ผมยกตัวอย่างมาแน่นอน

*สามเกลอ ที่ใต้ตอกเพื่อลงเสาเข็มหกเหลี่ยมก็คืออุปกรณ์ที่ทำขึ้นมาเพื่อใช้สำรับตอกเสาเข็มขนาดเล็กที่สามารถใช้คนยกตอกได้ จะมีลักษณะเป็นทุ่นเหล็กมีน้ำหนักพอสมควรและเชื่อมเหล็กทำเป็นหูออกมาให้สำหรับคนยก โดยจะทำหูสำหรับยกออกมาด้านข้าง 3 หู เวลาจะใช้งานตอกเสาเข็มก็จะใช้คนยก 3 คน และการยกตอกจะต้องยกขึ้น-ลงให้พร้อมเพรียงกันทั้ง3 คน จึงเป็นที่มาของคำว่า “ สามเกลอ “




จัดทำบทความโดย: ก่อสร้างไทย ดอทคอม

วิศวกรออกแบบ :(Civil Design Engineer)

สงวนลิขสิทธิ์บทความ  ห้ามนำไปเผยแพร่ ก่อนได้รับอนุญาตจาก ;ก่อสร้างไทยดอท คอม

ความทั้งหมดในเว็บนี้ สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 

ผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าทำผิดกฏหมายฐานละเมิดลิขสิทธิ์และจะถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย